Tuesday, January 19, 2016

ทึ่ง หมีน้ำสุดอึดฟื้นคืนชีพหลังถูกแช่แข็งกว่า 30 ปี แถมวางไข่พร้อม




          นักวิจัยญี่ปุ่นทึ่งความอึดของ หมีน้ำ หรือ ทาร์ดิเกรด ยังรอดชีวิตได้ หลังถูกแช่แข็งเย็นจัดนับ 30 ปี เริ่มขยับร่างกายดุกดิกอีกครั้งหลังน้ำแข็งละลาย แถมไม่ใช่แค่รอดได้ ยังวางไข่ได้ ฟักเป็นตัวด้วย

          วันที่ 15 มกราคม 2559 เว็บไซต์เดลี่เมล เผยผลงานวิจัยอันน่าทึ่งจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับการเผยแพร่ลงในวารสาร ScienceDirect เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ว่าด้วยความอัศจรรย์ของ "หมีน้ำ" หรือ "ทาร์ดิเกรด" (Tardigrades) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กจิ๋ว 2 ตัวที่ได้มาจากการเก็บตัวอย่างแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกเหนือเมื่อปี 2526 และได้นำแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส มาเป็นระยะเวลาถึง 30.5 ปี และเมื่อนำมันมาละลายน้ำแข็งดู ก็พบว่าเจ้าหมีน้ำทั้งสองค่อย ๆ กลับมาขยับตัวกระดุกกระดิก คืนสู่สภาวะปกติอีกครั้ง

          หมีน้ำทั้งสองตัวถูกตั้งชื่อว่า SB-1 และ SB-2 จากการเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิดหลังน้ำแข็งละลาย  ก็พบว่า SB-1 เริ่มขยับขาคู่ที่ 4 ในวันแรกของการละลายน้ำแข็ง และในวันที่ 5 ก็เริ่มขยับขาคู่ที่ 1, 2 และลำตัวได้ แม้การเคลื่อนไหวจะเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากก็ตาม กระทั่งในวันที่ 9 มันขยับพาตัวขึ้นมาที่ผิวของเหลวในถาดทดลอง และในวันที่ 13 จึงเริ่มกัดกินสาหร่ายที่เตรียมไว้ให้

 

          การค่อย ๆ ฟื้นตัวของ SB-1 แสดงให้เห็นว่า หมีน้ำสามารถหยุดกระบวนการการเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากภาวะออกซิไดซ์ใน ขณะที่ถูกแช่แข็งไว้ได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูตัวเอง สังเกตจากการที่มันไม่กินอาหารใด ๆ เลยในช่วง 2 สัปดาห์แรก

          อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดาย ที่สุดท้ายแล้วหมีน้ำตัวหนึ่งได้ตายลงในวันที่ 20 ของการเฝ้าสังเกต แต่อีกตัวที่เหลืออยู่ก็สร้างความน่าอัศจรรย์ใจขึ้นมาอีก เพราะไม่ใช่แค่เพียงอยู่รอดและฟื้นจากสภาพแช่แข็งมาได้เท่านั้น ในวันที่ 23 มันยังวางไข่ออกมา 19 ฟอง ซึ่ง 16 ฟองในจำนวนนี้ ยังฟักออกมาเป็นตัวในอีก 6 วันถัดมาด้วย

 

          เมงุมุ ทสึจิโมโตะ นักวิจัยจากสถาบัน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไมนิจิว่า ทาง สถาบันจะเดินหน้าศึกษาต่อไปถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระดับยีน และกระบวนการฟื้นตัวของสัตว์ชนิดนี้ เพื่อทำความเข้าใจกลไกและเงื่อนไขที่อยู่เบื้องหลังการจำศีลอันยาวนานและการ อยู่รอดของเจ้าหมีน้ำ


http://hilight.kapook.com/view/131778

No comments:

Post a Comment